😍การเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางาน😍
งานเป็นสิ่งสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน
การทำงานก็เพื่อปรารถนาที่จะให้งานของตนเองก้าวหน้า
มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อองค์กร ต่อสังคม และครอบครัวโดยส่วนรวม
บุคคลที่มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลานั้นจะมีความพร้อมต่อการแข่งขัน และจะเป็นบุคคลที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หน่วยงานหรือองค์กรที่มีพนักงานเหล่านี้ก็จะมีความเจริญก้าวหน้าไปด้วย
🎀ความหมายการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน🎀
การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีนักวิชาการหลายท่านให้ความหมายดังนี้
💜จอห์น ดี.มิลเล็ท (John
D.Millet,1954) ได้กล่าวว่า ประสิทธิภาพ หมายถึง
ผลการปฏิบัติงานที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ และได้รับผลกำไรจากการปฏิบัติงาน
ซึ่งความพึงพอใจ หมายถึง ความพึงพอใจในการบริการให้กับประชาชน โดยพิจารณาจาก เช่น
การให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน การให้บริการอย่างรวดเร็วทันเวลา
การให้บริการอย่างเพียงพอ การให้บริการอย่างต่อเนื่อง
และการให้บริการอย่างก้าวหน้า เป็นต้น
💜สมใจ ลักษณะ (2544) ได้กล่าวว่า
การมีประสิทธิภาพในการทำงานของตัวบุคคล หมายถึงการทำงานให้เสร็จ
โดยสูญเวลาและเสียพลังงานน้อยที่สุด ได้แก่การทำงานได้เร็ว และได้งานที่ดี
บุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน
เป็นบุคลากรที่ตั้งใจในการปฏิบัติงานเต็มความสามารถ ใช้กลวิธี
หรือเทคนิคการทำงานที่จะสร้างผลงานได้มาก เป็นผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจ
โดยสิ้นเปลืองต้นทุน ค่าใช้จ่าย พลังงาน และเวลาน้อยที่สุด
💜สิริวดี ชูเชิด (2556)
ได้กล่าวว่า
ประสิทธิภาพการทำงาน หมายถึง ความสามารถและทักษะในการกระทำของบุคคลของตนเอง
หรือของผู้อื่นให้ดีขึ้น เจริญขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเองและขององค์กร
อันจะทำให้ตนเอง ผู้อื่นและองค์กร เกิดความพึงพอใจและสงบสุขในที่สุด
สรุปว่า
การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน คือ การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ความสามารถ
และทักษะในการทำงานของตนเองหรือผู้อื่นให้ดีขึ้นเจริญขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร
ซึ่งจะทำให้ตนเองผู้อื่นและองค์กรเกิดความสุขในที่สุด
โดยการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์กรหรือการพัฒนาสังคม
🎀ประโยชน์การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน🎀
บุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
และเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้
การบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นการที่องค์การจะกระทำภารกิจหลักให้บรรลุวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพนั้น
หน่วยงานจำเป็นจะต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมกับงาน
ซึ่งประโยชน์ของการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน มีดังนี้
1. ช่วยทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือวิธีการทำงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2. ช่วยเพิ่มกลยุทธ์ในการสร้างความสำเร็จในการทำงานและช่วยลดความซ้ำซ้อนของงาน
3. ช่วยทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วยวิธีการที่รวดเร็ว
4. ช่วยทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้า
หรือพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ
5. ทำให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ
ลดความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ทรัพยากร และกำลังคน
6. องค์กรมีความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์
เทคนิค วิธีการ ด้วยวิธีการทำงานที่เหมาะสม ลดปัญหาอุปสรรคและมีความสุขในการทำงาน
7. ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง
เมื่อพัฒนาตนเองแล้วจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนานั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่องานและองค์กรต่อไป
🎀ประเภทของประสิทธิภาพ🎀
ประสิทธิภาพ
เป็นเรื่องของการใช้ปัจจัยและกระบวนการในการดำเนินงาน โดยประสิทธิภาพอาจไม่แสดงเป็นค่าประสิทธิภาพเชิงตัวเลข
แต่แสดงด้วยการบันทึกถึงลักษณะการใช้เงิน วัสดุ คน และเวลา
ในการปฏิบัติงานอย่างคุ้มค่า ประหยัด ไม่มีการสูญเปล่าเกินความจำเป็น
รวมถึงมีการใช้กลยุทธ์หรือเทคนิควิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม
สามารถนำไปสู่การบังเกิดผลได้เร็วและมีคุณภาพ ประเภทของประสิทธิภาพ มี 2 ระดับคือ
💙1.
ประสิทธิภาพของบุคคล
หมายถึง
การทำงานเสร็จโดยสูญเสียเวลาและพลังงานน้อยที่สุด ค่านิยมการทำงานที่ยึดกับสังคม
เป็นการทำงานได้เร็วและได้งานดี
💙2. ประสิทธิภาพขององค์กร
คือการที่องค์กรสามารถดำเนินงานต่าง
ๆ ตามภารกิจหน้าที่ขององค์กร โดยใช้ทรัพยากร ปัจจัยต่าง ๆ
รวมถึงกำลังคนอย่างคุ้มค่า มีการสูญเปล่าน้อยที่สุด มีลักษณะการดำเนินงานไปสู่ผลตามวัตถุประสงค์
โดยประหยัดทั้งเวลา ทรัพยากร และกำลังคน
องค์กรมีความสามารถในการใช้ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ เทคนิควิธีการ และเทคโนโลยี
ทำให้เกิดวิธีการทำงานที่เหมาะสม มีความราบรื่นในการดำเนินงาน มีปัญหาอุปสรรค
และความขัดแย้งน้อยที่สุด บุคลากรมีขวัญกำลังใจดี และมีความสุขในการทำงาน
🎀องค์ประกอบของการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน🎀
การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน
เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมความสามารถ
และทักษะในการทำงานของตนเองหรือผู้อื่นให้ดีขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร
ซึ่งองค์ประกอบการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์กร
โดยผู้เขียนยกตัวอย่างแนวคิดของนักวิชาการมีดังนี้
ปีเตอร์สัน (Perterson) และ โพลแมน (Plowman)
ได้กล่าวว่า
องค์ประกอบของประสิทธิภาพการทำงาน ไว้ดังนี้คือ
1.
คุณภาพของงาน (Quality) จะต้องมีคุณภาพสูงคือผู้ผลิตและผู้ใช้ได้ประโยชน์คุ้มค่าและมีความพึงพอใจ
2.
ปริมาณ (Quality) งานที่เกิดขึ้นต้องเป็นไปตามความคาดหวังของหน่วยงาน
3.
เวลา (Time) คือเวลาที่ใช้ในการดำเนินงานต้องอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง
เหมาะสมกับหลักการและทันสมัย
4.
ค่าใช้จ่าย (Cost) เป็นในการดำเนินการทั้งหมดจะต้องเหมาะสมกับงานและวิธีการ
คือจะต้องลงทุนน้อยและได้ผลกำไรมากที่สุด
จิตติมา
อัครธิติพงศ์ (2556) ได้กล่าวว่า
ประสิทธิภาพในการทำงานในองค์กรเป็นหัวใจสำคัญในการนำองค์กรไปสู่การบรรลุผลความสำเร็จของการดำเนินงาน
องค์กรจะมีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจทั้งในด้านการผลิต การบริการ มีความเจริญก้าวหน้า
และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและบุคลากรองค์กร
ซึ่งองค์ประกอบการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานที่สำคัญ มีดังนี้
1. สิ่งแวดล้อมนอกองค์กร ได้แก่
ตลาดความต้องการของลูกค้า สภาพเศรษฐกิจของสังคมและประเทศ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ
สภาพคล่องทางการเงินการธนาคาร กำลังการซื้อของลูกค้า ความเปลี่ยนแปลงของสังคม
2.
สิ่งแวดล้อมในองค์กร ได้แก่ นโยบาย
วิสัยทัศน์ และปรัชญาขององค์กรที่กำหนดทิศทางการดำเนินงาน วัฒนธรรมองค์กร
และการจัดบรรยากาศการทำงานที่ส่งเสริมการทำงานของบุคลากร
3.
ปัจจัยขององค์กร ได้แก่
สภาพความพร้อมขององค์กรในด้านที่ดิน อาคารสถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้
เงินทุน เทคโนโลยี และศักยภาพของบุคคล
ด้านบุคลากรหรือบุคคล ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กร
บุคคลต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานดังนั้นองค์ประกอบด้านตัวบุคคลที่จำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน
ได้แก่ ปรัชญาและอุดมการณ์ บุคลิกภาพ ความต้องการ ค่านิยม
เป้าประสงค์ของชีวิตและหารทำงาน การสำรวจตนเอง ความสามารถในการพิชิตอุปสรรคในการทำงาน
และการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นต้น
4. กระบวนการขององค์กร เป็นองค์ประกอบสำคัญลำดับสองต่อจากองค์ประกอบ
ด้านบุคคล กระบวนการที่สำคัญขององค์กร คือ
การดำเนินงานทั้งหมดที่จะทำให้เกิดการผลิต และการบริการที่น่าพอใจ
ขอบข่ายของกระบวนการขององค์การที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ได้แก่
การจัดโครงสร้างงานขององค์กร การวางแผน การจัดองค์กรในด้านบุคลากร
การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การควบคุมคุณภาพการทำงาน
และการพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
🎀ประสิทธิภาพในการทำงาน🎀
1. ปัจจัยด้านโครงสร้างองค์กร องค์กรจะมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างที่เหมาะสม
โดยจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยย่อยที่สำคัญ ได้แก่
1.1
ปัจจัยด้านนโยบายที่ครอบคลุมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์
การกำหนดพันธะกิจที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์
การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาว
การกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และการดำเนินงาน เป็นต้น
1.2
ปัจจัยด้านการบริหารและการจัดการที่ครอบคลุมถึงการจัดโครงสร้างเกี่ยวกับงานใหม่
ความซับซ้อน ความเป็นทางการ การรวมศูนย์หรือกระจายอำนาจ การจัดสายงาน
การบังคับบัญชา การจัดกลุ่มงาน การจัดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มงาน การวางแผน
การสั่งการ การควบคุมการทำงาน การจัดสรรทรัพยากร การติดตามกำกับดูแล
และการประเมินผลการทำงาน
2. ปัจจัยด้านบุคคล
เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพราะบุคคลคือหมู่คณะที่รวมตัวกันเป็นองค์กร
มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีบทบาทในการทำงาน หรือดำเนินงานต่าง ๆ สัมพันธ์กัน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ
ตามโครงสร้างงานในองค์กร ครอบคลุมบุคคลระดับสูง กลาง และล่าง
รวมถึงบุคคลในระดับการทำงานทั้งหมด
ซึ่งประสิทธิภาพขององค์กรจะขึ้นอยู่กับคุณลักษณะและคุณสมบัติที่พึงปรารถนาในด้านต่าง
ๆ ได้แก่ จำนวนบุคลากรในแต่ละกลุ่มงาน ความรู้ความสามารถพื้นฐาน
ความรู้ความสามารถที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ ความเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสาร
ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านการบริหารจัดการ เจตคติ ค่านิยมที่พึงปรารถนา
ความสามารถในการพัฒนาคน พัฒนางาน และการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนโยบาย
และแผนการดำเนินงานขององค์กร
3. ปัจจัยด้านเทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์
การออกแบบการบริหาร การใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ทันสมัยในกระบวนการผลิต
การควบคุมและการตรวจสอบคุณภาพ การจัดทำระบบข้อมูลการเชื่อมโยงการตลาด การบริการ
เพื่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สู่สังคม
สมยศ นาวีการ (2544) ได้กล่าวว่า
แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร มี 7 ปัจจัยคือ
· ปัจจัยด้านกลยุทธ์
(Strategy) เป็นการกำหนดภารกิจ
การพัฒนาจุดอ่อน จุดแข็ง การวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคภายใน และภายนอกองค์กร
· ปัจจัยด้านโครงสร้าง
(Structure) เป็นการจัดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม
ซึ่งจะช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น
· ปัจจัยด้านระบบ
(System) เป็นระบบขององค์กรที่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย
· ปัจจัยด้านรูปแบบ
(Styles) เป็นรูปแบบเกี่ยวกับการบริหารการจัดการของผู้บริหาร
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร
· ปัจจัยด้านบุคลากร
(Staff) เป็นผู้ปฏิบัติงานในองค์กร
· ปัจจัยด้านความสามารถ
(Skill) คือความรู้ความสามารถ
ทักษะของบุคลากรที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน
·
ปัจจัยด้านค่านิยม (Shared Value) เป็นค่านิยมร่วมเกี่ยวกับบุคลากรในองค์กร
🎀คนที่มีประสิทธิภาพมีลักษณะเป็นอย่างไร🎀
1. ความฉับไว
เป็นการใช้เวลาได้อย่างดีที่สุด
รวดเร็ว ไม่ทำงานล่าช้า แบบเช้าชามเย็นชาม
นั่นคือคนที่มีประสิทธิภาพถ้านายมอบหมายงานให้ทำภายในเวลา 10 นาที ก็ควรทำให้เสร็จตามกำหนด ไม่ควรใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง
หรืองานบริการ ผู้รับบริการย่อมต้องการความรวดเร็ว
ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องสร้างวัฒนธรรมการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service)
2. ความถูกต้องแม่นยำ
เป็นการผิดพลาดในงานน้อย
ตลอดจนมีความแม่นยำในกฎระเบียบ ข้อมูล ตัวเลข หรือสถิติต่าง ๆ ตลอดจนไม่ควรประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร
และต้องตรวจทานงานก่อนเสนอผู้บริหารเสมอ
3. ความรู้
คือองค์ความรู้ในงานดี
รู้จักศึกษาหาความรู้ในเรื่องงานที่กำลังทำอยู่ตลอดเวลา
แต่คนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นผู้ที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง
เรียนรู้จากองค์กร เรียนรู้จากผู้อื่น เรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
โดยเรียนให้ “รู้จริง และรู้แจ้ง”และนำความรู้นั้นมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
4. ประสบการณ์
เป็นการรอบรู้
หรือรู้รอบด้าน จากการการได้เห็น ได้สัมผัส ได้ลงมือปฏิบัติบ่อย ๆ
มิใช่มีความรู้ด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว เช่น
เป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์มานานเป็นครูอาจารย์ที่สอนนักศึกษามานาน
หรือเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการมานาน บุคลเหล่านี้เราอาจเรียกว่า“ผู้มีชั่วโมงบินสูงในการทำงาน”
เพราะคนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์สูง จะทำงานผิดพลาดน้อย
สมควรที่องค์กรจะต้องธำรงรักษาบุคคลเหล่านี้ให้อยู่ในองค์การนานที่สุดเพราะคนเหล่านี้จะทำให้องค์การพัฒนาได้เร็ว
5. ความคิดสร้างสรรค์
เป็นการคิดริเริ่ม
สิ่งใหม่ ๆ มุมมองแปลกใหม่เรียกว่านวัตกรรม (Innovation) มาใช้ในองค์กร
เช่น คิดระบบการให้บริการใหม่ ๆ ที่ลดขั้นตอน
คิดระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบใหม่ คิดวิธีการบริหารงานแบบเชิงรุก
คิดปรับปรุงอาคารสถานที่แบบเอนกประสงค์ เป็นต้น
🎀เทคนิคการประเมินผลการทำงาน🎀
1. ปริมาณงาน (Quantity of Work) คือการกำหนดความมากน้อยเกี่ยวกับจำนวน
เป็นมาตรฐานในการมอบหมายงานให้การทำงานแก่พนักงานเป็นรายบุคคล
โดยมีตัวชี้วัดปริมาณงานที่ประสบผลสำเร็จตลอดระยะเวลาที่แน่นอนได้
อาจวัดผลสำเร็จเกี่ยวกับงานตรงเวลา ความมีประสิทธิผลต่าง ๆ
การตรวจสอบผลงานเกี่ยวกับพนักงาน จะช่วยให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่าเขาบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีเพียงใด
2. คุณภาพงาน (Quality of Work) เป็นคุณภาพเกี่ยวกับผลงาน
กล่าวคือ มีความถูกต้อง ความครบถ้วน ประณีต
ทันเวลาและเป็นที่พึงพอใจจากผลงานที่สำเร็จจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
3. ความร่วมมือกับผู้อื่น
(Cooperativeness) คือการที่ผู้ทำงานมีความสามารถและเต็มใจทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน
มีความสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน มีความสามัคคีทั้งกับผู้บังคับบัญชาและลูกน้อง
เพื่อการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
4. มีความน่าไว้วางใจ
(Dependability) คือการที่ผู้ทำงานมีความน่าไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาและเกี่ยวกับองค์กร
โดยมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ละเอียดถี่ถ้วน ความแม่นยำ ไว้ใจได้ในเรื่องเวลาและเรื่องอื่น
ๆ
5. มีความคิดริเริ่ม
(Creativity) คือการที่ผู้ทำงานมีความกระตือรือร้นในการใฝ่หาความรู้ทั้งในงานที่ทำอยู่
และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง กล้าที่จะเริ่มต้นงานได้ด้วยตนเอง
และไม่กลัวที่จะดำเนินการด้วยตนเองคนเดียว แก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผล
🎀ปัจจัยที่ช่วยทำให้คนทำงานดีและมีประสิทธิภาพ🎀
1. เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี คือในการทำงานนั้นเราจะต้องรู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบ
และค้นคว้าแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ทำตัวให้เป็นที่รักของผู้บังคับบัญชา
และเพื่อนร่วมงาน การที่เราทำตัวเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี
ไม่เพียงแต่จะทำให้เราทำงานอย่างมีความสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความก้าวหน้าอีกด้วย
การช่วยเหลือคนอื่นอยู่เสมอ จะทำให้เราได้รับความช่วยเหลือตอบแทน ดังนั้น
เมื่อติดขัดปัญหาอะไรก็ตาม เราก็จะผ่านพ้นไปได้อย่างไม่ยากเย็น
2. รักษามารยาทในการทำงาน การทำงานโดยยึดถือระเบียบ
และเคารพกฎกติกา จะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น
ไร้อุปสรรคในการทำงาน การรู้จักมารยาทในการทำงาน ไม่เพียงเป็นการเคารพผู้อื่น
แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เคารพเราด้วย เคารพในความเป็นคนทำงานมืออาชีพ
รู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำในที่ทำงาน
3. สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น
อีกทั้ง ยังเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารอยยิ้มเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการทำงาน
ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกได้ถึงความเป็นมิตรของเรา เมื่อมีความสุข ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่ยากเย็น
4. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
ทั้งในระดับผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา
จะทำให้การทำงานมีความราบรื่นมากขึ้น การไหว้วานใครให้ช่วยเหลือก็ทำได้ง่ายขึ้น
เพื่อนร่วมงานจะยอมช่วยเหลือเราด้วยความเต็มใจ
เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเราก็พร้อมที่จะช่วยเขา
งานคือชีวิต
ชีวิตคืองาน หากงานดี ชีวิตก็จะดีตาม หากขาดงานก็คือขาดชีวิต
งานจึงเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความสุข กำลังใจ
ความหวังและพลังในการทำงานในองค์การให้มีประสิทธิภาพได้ เมื่อองค์การมีประสิทธิภาพ
องค์การก็จะอยู่รอดและเติบโตก้าวหน้า
นั้นก็คือความยั่งยืนในการพัฒนาองค์การนั่นเอง
สืบค้นเมื่อ 13/12/60
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น